จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทำให้หลายคนเกิดความกังวลอย่างมาก เพราะเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายและแพร่หลายกว้างขวางกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมาเราจึงได้รวมเรื่องราวที่น่ารู้เกี่ยวกับสายพันธุ์นี้มาฝากทุกคนกันค่ะ
สายพันธุ์โอมิครอนติดต่อง่ายกว่า?
หลังจากพบสายพันธุ์โอมิครอนที่แอฟริกาตอนใต้ ไวรัสนี้ได้แพร่กระจาย พบในประเทศต่างๆ นอกทวีปแอฟริการวมแล้วเกือบ50 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดลต้าสายพันธุ์โอมิครอนมีอำนาจการแพร่กระจายโรคมากกว่าสายพันธุ์เดลต้าอย่างน้อย 2เท่าขึ้นไป โดยคิดจากค่า R-naught (R0) เป็นการคำนวณความสามารถในการแพร่ระบาดโดยเฉลี่ยของโรคมีค่าประมาณ 8-15 หมายถึงผู้ติดเชื้อโอมิครอน 1 คน สามารถแพร่ติดต่อไปยังผู้อื่นอีก 8-15 คนแต่มีเงื่อนไขว่าคนเหล่านั้นไม่มีภูมิคุ้มกันเลย ไม่เคยติดเชื้อและไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาเลย
ฉีดวัคซีนที่มีตอนนี้สามารถป้องกันได้หรือไม่
จากข้อมูลขณะนี้พบว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนอาจทำให้ไวรัสมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้นทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ก็ยังช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยหนักได้จึงควรกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้งด้วยวัคซีน mRNA ซึ่งทั้งสองยี่ห้อสามารถกระตุ้นภูมิได้สูงกว่าการฉีดวัคซีนครบโดส2 เข็ม นอกจากนี้บริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งก็เร่งเดินเครื่องพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19รุ่นใหม่ เพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนแล้ว
สายพันธุ์โอมิครอนกับโอกาสการอ่อนแรงลง
ในอนาคตโรคโควิดอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นและคนส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันดี โรคนี้อาจจะมีอาการไม่ต่างจากไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่เนื่องจากอาการส่วนใหญ่ เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย และอ่อนเพลียเป็นต้น ล้วนเป็นอาการที่เจอได้ในคนที่ติดเชื้อทางเดินหายใจธรรมดา ดังนั้นหากมีภูมิคุ้มกันดี ผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้ว อาการส่วนใหญ่ก็จะน้อยลงไม่ค่อยรุนแรง
การตรวจด้วยATK สามารถหาเชื้อโอมิครอนได้หรือไม่
การตรวจโควิดด้วยชุดตรวจATK(Antigen Test Kit) สามารถตรวจหาเชื้อโอมิครอนได้แต่ต้องมีการเก็บตัวอย่างและตรวจให้ถูกวิธีรวมถึงมีการตรวจซ้ำเพื่อความถูกต้องแม่นยำ แต่ทั้งนี้การตรวจด้วยวิธี RT-PCRจะมีความแม่นยำมากกว่าเพราะต้องใช้น้ำยาเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ในการตรวจหา เช่นการนำน้ำยาของโอมิครอนไปตรวจหาเชื้อโอมิครอน
แม้เป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดเชื้อสายพันธุ์นี้และมีโอกาสเสียชีวิตได้รวมทั้งอาการแรกเริ่มมักไม่รุนแรงหรือแทบไม่มีอาการจึงควรต้องเฝ้าระวังและดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแนะนำให้รีบไปรับวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว