Precast VS อิฐมวลเบา ต่างกันอย่างไร มีดีแค่ไหน

2 วัสดุที่ส่วนใหญ่นิยมนำมาสร้างบ้านก็คืออิฐมวลเบาและ Precast ที่น่าจะพอคุ้นหูกันมาบ้างแต่อาจยังไม่รู้จักดีพอว่าต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนดีกว่ากัน ลองมาดูกันเลย
หมดยุคการสร้างบ้านด้วยอิฐมอญแล้วฉาบปูนแล้วเพราะเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่หลากหลายและช่วยทำให้ประหยัดเวลาในการก่อสร้างซึ่ง 2 วัสดุที่ส่วนใหญ่นิยมนำมาสร้างบ้านก็คืออิฐมวลเบาและ Precast ที่น่าจะพอคุ้นหูกันมาบ้างแต่อาจยังไม่รู้จักดีพอว่าต่างกันอย่างไร แล้วแบบไหนดีกว่ากัน ลองมาดูกันเลย
อิฐมวลเบา
หรือชื่อทางการเรียกว่าคอนกรีตมวลเบา มักใช้ในการก่อสร้างส่วนผนังหลักของบ้านหรือห้องที่ต้องการความเย็นสบาย และเก็บเสียงได้ดี เพราะพื้นผิววัสดุมีความพรุนช่วยให้ระบายอากาศได้ดี ระบายความร้อนได้ไว และทำให้บ้านเย็นขึ้น 
รวมถึงมีความแกร่งทนทานต่อทุกสภาวะอากาศและทนไฟได้นาน 2-4 ชม. น้ำหนักเบา ก่อสร้างได้รวดเร็ว เบากว่าอิฐมอญ 2-3เท่า และมากกว่าคอนกรีต 4-5 เท่าทำให้สะดวกในการติดตั้ง และขนย้าย นอกจากนี้ยังใช้งานง่ายด้วยเทคโนโลยีพิเศษในการขึ้นรูปจึงสามารถตัดแต่งได้ตามขนาดและรูปแบบตามที่ต้องการ
แต่มีข้อเสีย คือจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีความรู้เกี่ยวกับมวลเบาพอสมควรเพื่อให้ได้ผนังอิฐมวลเบาที่มีคุณภาพ และในการก่อสร้างต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากอุปกรณ์พื้นฐานที่ผู้รับเหมารายเล็กๆ อาจไม่มี รวมถึงมีปัญหาเรื่องด้านการเจาะผนังสำหรับแขวนของตกแต่งผนัง อาจจะทำให้ไม่แข็งแรงและเปราะได้ง่าย
Precast 
ก็คือ ผนังสำเร็จรูปที่ผลิตเป็นแผ่นหรือโครงบ้านมาจากโรงงานเลยไม่ต้องมาก่ออิฐฉาบปูนเหมือนการก่อสร้างทั่วไปให้เสียเวลา ซึ่งภายใน Precast หรือผนังสำเร็จรูปเป็นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความแข็งแรงและคงทนกว่าก่ออิฐฉาบปูนทั่วไปหลายเท่าเพราะPrecast ถูกออกแบบมาเพื่อให้รับน้ำหนักของตัวบ้านแทนที่เสาบ้านด้วยทำให้มีความแข็งแรงทนทานและกันเสียงได้ดีไม่แพ้การสร้างแบบก่ออิฐถือเป็นข้อดีสำคัญของการสร้างบ้านด้วยผนังรูปแบบนี้เลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ด้วยรูปแบบการก่อสร้างบ้านแบบหมู่บ้านที่มีจำนวนหลายหลังและมีแบบบ้านไม่กี่แบบ แต่มีระยะเวลาก่อสร้างจำกัด การสร้างบ้านด้วย Precast จึงทำให้ง่ายและรวดเร็วขึ้นเพราะทำแค่บล็อกผนัง จากนั้นก็สามารถปั๊มแบบออกมาได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว 
สำหรับข้อเสีย คือการระบายอากาศ เพราะเป็นผนังที่มีคอนกรีตทึบตันมากกว่าก่ออิฐและการเจาะยึดของต่างๆ บนผนังทำได้ยาก เพราะต้องอาศัยช่างผู้เชี่ยวชาญ มิฉะนั้นอาจจะทำให้เกิดการแตกร้าวของผนังและส่งผลต่อประสิทธิภาพของโครงสร้างบ้านได้รวมถึงการรั่วซึมตามรอยต่อของผนัง กรณีที่อาจใช้ช่างที่มีฝีมือไม่มากพอฉาบรอยต่อได้ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ดังนั้นก่อนการรับโอนบ้านแนะนำให้ช่างตรวจรับบ้านเช็คบริเวณรอยต่อของแผ่น Precast อย่างละเอียดด้วยการใช้เครื่องมือตรวจวัดความชื้นบริเวณรอยต่อ
ทั้งหมดนี้เป็นการให้ข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อให้ทุกคนที่กำลังตัดสินใจซื้อบ้านที่ก่อสร้างด้วยทั้ง2 วัสดุได้ทำความรู้จักกับทั้งอิฐมวลเบาและ Precast มากขึ้นเห็นถึงข้อดี-ข้อเสีย เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกซื้อบ้านด้วยโครงสร้างชนิดไหนถึงจะเหมาะสมและตรงกับความต้องการของตัวเองมากที่สุด
Living Tips

เราใช้คุกกี้ ( Cookie ) เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดี และพัฒนาประสิทธิภาพในการนำเสนอข้อมูล ข้อกำหนดและเงื่อนไข

ยอมรับ